16 กุมภาพันธ์ 2555

น่าน...นะสิ VS ทยอยล่องน่าน : มองน่าน ผ่านเพลงดนตรี 2 สมัย

เมื่อปลายปีที่แล้วหลาย ๆ คนคงเคยไปเที่ยวภาคเหนือกันมาแล้ว และอาจจะต้องผิดหวังเล็กน้อยกับความวิปริตของอากาศที่หนาวน้อยกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งสถานที่ประจำที่มีชื่อเสียงก็มีทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ปาย ดอยโน้น ดอยนี่ และก็ยังมีอีกจังหวัดหนึ่งที่จะพลาดไปไม่ได้เลยก็คือ "จังหวัดน่าน"

พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน ที่มา: moohin.com
น่านเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีภูมิประเทศท่ามกลางภูเขาและม่านหมอก ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก และยังสามารถเก็บรักษาสมบัติทางโบราณวัตถุได้เป็นอย่างดี เมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยน การปรับตัวตามสภาพสังคมสมัยใหม่ก็คืบคลานเข้ามาหา ทำให้จังหวัดน่านต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวมากขึ้น และด้วยจุดเด่นของความเป็นธรรมชาติของเมืองน่าน จึงทำให้หลายคนที่มาสัมผัสเพียงครั้งแรกเกิดความประทับใจ และเกิดแรงบันดาลใจในระหว่างได้หยุดพักผ่อน ซึ่งก็ไม่พ้นถึงเหล่าศิลปินหลายท่านที่ได้มาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะให้ปรากฏหลายแขนง ทั้งจิตรกรรม ภาพถ่าย วรรณกรรม

ในส่วนของงานดนตรีช่วงที่ผ่านมาก็มีศิลปินที่สร้างงานขึ้นมาจากความประทับใจในเมืองน่านเช่นกัน ซึ่งงานดนตรีร่วมสมัยที่ชัดเจนที่สุดก็คงต้องยกให้กับเพลงของคุณศุ บุญเลี้ยงในเพลง "น่านนะสิ" ซึ่งหลายคนก็คงจะเคยผ่านหูผ่านตากับเพลงและมิวสิควีดีโอ ซึ่งเนื้อเพลงนั้นก็เป็นการสื่อถึงภาพสะท้อนของผู้มาเยือนที่ได้ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดน่านไม่เว้นแม้กระทั้งร้านขนมบัวลอย "ป้านิ่ม" อันกลายเป็นจุดนัดพบแหล่งใหม่ของนักท่องเที่ยวรุ่นหลังในเวลาต่อมา




สำหรับในทางดนตรีไทยก็เคยเกิดการสร้างงานเพลงในทำนองนี้เช่นกัน ดังตัวอย่างเพลง "เขมรไทรโยค" พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปที่น้ำตกไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ราว พ.ศ. 2431 และเป็นเพลงระดับคลาสสิกที่ยังมีความนิยมมาถึงในยุคปัจจุบันนี้ เมื่อผ่านมาร่วมศตวรรษ ก็เกิดปรากฏการณ์ผลิตซ้ำขึ้นในเหตุผลที่ต่างออกไป โดยเหตุที่มีกลุ่มนิสิตสาขาดุริยางค์ไทยของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายให้ไปฝึกงานที่จังหวัดน่าน และได้มีโอกาสไปเที่ยวชมโบราณสถานและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจตามธรรมชาติในจังหวัด จึงเกิดแรงบันดาลใจเป็นงานดนตรีไทยชิ้นใหม่ขึ้นถึง 3 เพลง คือ

  • ระบำพรหมจารี ศรีนครน่าน
  • เพลงวรนคร เถา
  • เพลงทยอยล่องน่าน เถา

ทั้งสามเพลงนี้ได้ประพันธ์ขึ้นโดยกลุ่มนิสิตทั้งทำนองและบทร้อง เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2554 ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับเพลงที่ได้นำเสนอไปในช่วงต้นแล้ว และผมมีตัวอย่างเพลงทยอยล่องน่านมาให้ฟัง ซึ่งผมได้มีส่วนร่วมในการช่วยประพันธ์ทางขับร้องมาตั้งแต่ต้นครับ

สำหรับเพลงทยอยล่องน่านนี้ เมื่อได้รับโจทย์จากน้องนิสิตว่าอยากให้สอดแทรกสำนวนร้องสร้อยที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงลาในแบบเมืองน่านลงไปในเพลง สิ่งที่ผมนึกได้ในแทบจะทันทีก็คือ ทำนอง "ซอล่องน่าน" ซึ่งเป็นทำนองร้องของพื้นเมืองมาแต่เดิมอยู่แล้ว จึงได้สอดแทรกไปกับทำนองร้องที่เป็นสำนวนเพลงทยอยในท่อนที่ 2 ซึ่งเป็นการแสดงอารมณ์เศร้าโศกเมื่อต้องจากคนรักมายังแดนไกล

สำหรับเนื้อร้องที่ผมชอบที่สุดในเพลง ก็คงจะเป็นส่วนของสร้อยในอัตราชั้นเดียวที่ว่า

    "น้องเจ้าเอ๋ย            พี่แสนจนคนยาก
จะซื้อกำไลเงินไปฝาก   ลำบากดัดดั้น
น่านฟ้าฤๅจะกั้น            รักพี่เอย" 
ซึ่งเป็นลีลาการแต่งเนื้อเพลงที่เรียกได้ว่า จัดเต็มทั้งในด้านฉันทลักษณ์  อัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นจังหวัดน่านและแสดงอารมณ์รักปนโศกที่ต้องพลัดพรากจากกันตามแบบเพลงทยอยได้ดีเยี่ยม

การที่มีเพลงไทยแต่งขึ้นมาใหม่สักเพลงหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก จึงต้องขอชมเชยกลุ่มนิสิตสาขาดุริยางค์ไทยข้างต้น ที่สามารถดำเนินตามรอยของครูอาจารย์ได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของเพลงในยุคสมัยนี้ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ที่มีพัฒนาการจากรุ่นต่อรุ่น และมีเนื้อหาที่ร่วมสมัยมากขึ้น จึงอยากให้ผู้อ่านผู้ฟังลองเปรียบเทียบถึงระบบความคิดและแนวทางในการสร้างงานเพลงทั้งสองแบบไว้เป็นกรณีศึกษาครับ

เอาเป็นว่าไม่ร่ายยาวแล้ว ตามไปฟังเพลง "ทยอยล่องน่าน" กันเลยดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น