28 กุมภาพันธ์ 2555

แนวคิดเชิงวิเคราะห์ : บทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อแรกมีในสยาม


          เนื่องในโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งการประกาศใช้บทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคมที่จะถึงนี้ ผมมีเรื่องที่จะมานำเสนอและเล่าสู่กันฟังครับ

          ผมได้เคยติดตามผลงานการเผยแพร่และสาธิตการเล่นแผ่นเสียงโบราณของพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและแผ่นเสียงไทยบนเว็บไซต์ t-h-a-i-l-a-n-d.org ของคุณพฤฒิพล ประชุมผล มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งมีทั้งเพลงดนตรี การละเล่น และเพลงสำคัญของชาติไทยที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าหาฟังกันที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ผมได้แต่แอบประทับใจอยู่เงียบ ๆ อยู่เพียงลำพังบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ว่ายังมีผู้ที่มีใจรักในการสะสมสิ่งหายากและสามารถบูรณะเครื่องใช้ที่เป็นแหล่งความบันเทิงของคนในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เราได้เห็นร่องร่อยทางประวัติศาสตร์ที่มีความเคลื่อนไหว จับต้องได้จริง และสามารถเปรียบเทียบได้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่กำลังหมุนเร็วขึ้น

           จากผลงานที่เคยได้รับฟังจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว มีสิ่งที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษอยู่ชิ้นหนึ่งคือ การสาธิตการเล่นแผ่นเสียงชนิดร่องกลับทางของห้างปาเต๊ะ เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการบันทึกบนจานเสียงที่เก่าที่สุด เมื่อราว พ.ศ. 2450 บรรเลงโดยแตรวงกรมทหารราบที่ 3 ขับร้องโดยนักร้อง 2 ท่าน คือ แม่แป้น และแม่ปุ่ม (ท่านสามารถติดตามประวัติและรายละเอียดของแผ่นเสียงนี้เพิ่มเติมที่เวบเพจหมวด เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติไทย)




เพลงสรรเสริญพระบารมี พ.ศ.2450


          ในครั้งแรกที่ได้ฟัง ผมรู้สึกประทับใจและทึ่งในเสียงนักร้องทั้งสองท่านที่มีน้ำเสียงดังชัดเจน และมีเม็ดพรายในการขับร้องอย่างโบราณที่นักร้องสมัยปัจจุบันไม่สามารถทำได้เทียบเคียงท่านทั้งสองเลย และที่ประหลาดใจมากไปกว่านั้นก็คือเนื้อร้องของเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต เมื่อฟังจบในหนแรก ผมจึงได้นั่งย้อนไฟล์วีดีโอเพื่อฟังเพลงซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งเพื่อจะฟังเนื้อร้อง แต่ก็จนด้วยเกล้า เพราะว่าไม่สามารถฟังเนื้อเพลงได้ตลอด  คงเป็นเหตุมาจากคุณภาพเสียงของวีดีโอที่ปะปนด้วยเสียงเดินเข็มเพชรและเสียงพร่าที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่องเสียงไปตามกาลเวลานั้นเอง เมื่อฟังจนพอใจแล้ว ความคิดหนึ่งก็เริ่มผุดขึ้นมาในหัวว่า “เราน่าจะลองถอดเสียงเนื้อร้องนี้ดูนะ” ทันทีที่นึกได้ผมจึงเริ่มสำรวจและลองใช้คำค้นในเว็บไซต์ Google เพื่อค้นหาประวัติของเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ผมได้ไปพบกับบทความที่เกี่ยวข้องกับแผ่นเสียงนี้ ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.นพ.ชยันต์ธร ปทุมานนท์ ท่านได้ร่วมกับ รศ.ชไมพร ทวิชศรี ร่วมกันถอดเนื้อร้องออกมาได้ คำร้องและเสียงเอื้อนที่คุณหมอชยันต์ธรได้กรุณาถอดไว้ในชั้นแรกเป็นดังนี้

“จงจ่าเรินอ่ายูฮู้ทั่น (เออเอ่อเออเอ่ย) สั่นละนา มี (ฮี้ฮีฮี้) สุกทุ่กเวล้า (เอ๊อเออเอ๊อเอย) ลาฮับลน พร้อ (ฮ้อฮอฮ้อ) พอน ว้าลี (ฮี้) หว่ารา (เอิงเงย) ซี้รีซาหวัด (เออเอ๊อเออเอ๊อ) เท่พะชวย (เออเอ๊อเออเอ๊อเออเอ่อ เอ๊ย) อวย ข้าวันค่น (เอิ๋งเหง่ย) ตอม (เออเอ๊อเอ่อเออ) สิน สิ่งปราโส (เงย)”

          และท่านได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเนื้อที่ปรากฏในแผ่นเสียงปาเต๊ะนี้ น่าจะเป็นฉันทลักษณ์อย่างโคลงสี่สุภาพ และมีบทสรุปในเบื้องต้นว่าเนื้อร้องที่น่าจะเป็นควรเป็นดังนี้

                                              จงเจริญอายุท่าน                   สรณา
                                    เป็นสุขทุกเวลา                               ลับล้น
                                    พร้อมพรวลีวรา                               สิริสวัสดิ์
                                    เทพช่วยอวยขวัญค้น                        ตอบสิ้นสิ่งประสงค์

          เมื่อได้ข้อมูลนี้มาแล้ว จึงพบว่ามีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่มากในหลายประเด็น ทั้งการแบ่งวรรคตอน คำร้องที่ถูกถอดออกเป็นเสียงหลายพยางค์ และที่สำคัญมากคือ ความหมายโดยรวมของเพลงที่คุณหมอให้ข้อสังเกตโดยสรุปความว่า (1) ไม่มีสิ่งแสดงถึงการถวายพระพรด้วยคำราชาศัพท์ (2) ไม่มีที่มาของประวัติเนื้อเพลงนี้อย่างชัดเจน (3) เพลงสรรเสริญพระบารมีน่าจะมีเค้ามาจากทำนองตะวันตก ผมก็ได้ลองนำบทร้องดังกล่าวไปร้องเทียบเคียงกับเสียงต้นฉบับโดยใช้ประสบการณ์ของการขับร้องเพลงไทยของตนเองในการทดลอง ปรากฏว่าไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควรเนื่องจากเนื้อร้องหลายคำที่ทดลองออกเสียงไม่ตรงกับสำเนียงในต้นฉบับ แล้วอาจเป็นความอ่อนด้อยไม่เท่าถึงการณ์ของผมในการร้องเพลงด้วย แต่เมื่อได้พิจารณาต่อไปในเรื่องถ้อยคำ สำเนียง และความหมายโดยรวมของคำประพันธ์ จึงพบข้อสังเกตจากข้อมูลที่ปรากฏ ดังนี้

  1. คำว่า “ท่าน” ในบาทแรกของโคลง ไม่ตรงกับบังคับโทโทษตามหลักฉันทลักษณ์
  2. คำว่า “สรณา” นั้นเมื่อตรวจกับเสียงต้นฉบับแล้วพบว่าไม่น่าจะถูกต้อง และคำว่า “สรณา” ในความหมายของพจนานุกรมหมายถึง “ที่พึ่ง” (มาจาก สรณะ) และในบาทแรกของโคลงที่เริ่มต้นว่า “จงเจริญอายุท่าน สรณา” อาจมีความหมายที่ไม่สอดคล้องกัน แต่ก็อาจเป็นไปได้หากจะแปลตามศัพท์ว่า “ท่านผู้เป็นที่พึ่งจงเจริญด้วยอายุ”
  3. คำว่า “ลับล้น” เมื่อพิจารณาในบริบทของบาทที่สองว่า “เป็นสุขทุกเวลา ลับล้น” ก็ไม่น่าจะมีความหมายที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ซึ่งคำค้นที่ปรากฏในพจนานุกรมที่ใกล้เคียงที่สุดได้แก่คำว่า “ลับลี้” ซึ่งไม่ตรงกับเสียงร้องต้นฉบับแต่อย่างใด
  4. บาทที่ว่า “พร้อมพรวลีวรา ศิริสวัสดิ์” หากพิจารณาแล้วอาจแบ่งกลุ่มคำได้ใหม่ว่า “พร้อมพรวลี” และ “วราสิริสวัสดิ์” แต่หากเทียบด้วยเสียงต้นฉบับแล้ว เห็นว่าคำว่า “พร้อมพร” ไม่น่าจะตรงกับสำเนียงในแผ่นเสียง เช่นเดียวกับคำว่า “วลีวรา” ซึ่งไม่น่าจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้นตามหลักบาลีสมาส เมื่อเชื่อมด้วยบริบทของคำในวรรคที่ว่า “สิริสวัสดิ์” ซึ่งน่าจะถูกต้องอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้ความหมายที่สอดคล้องกัน
  5. วรรคที่ว่า “เทพช่วยอวยขวัญค้น” ผมเห็นว่ามีความหมายอยู่ แต่เมื่อเทียบตามต้นฉบับแล้วพบว่าคำว่า “ขวัญ” ไม่น่าจะตรงกับสำเนียงร้องเนื่องจากมีการแยกพยางค์เสียงเกิดขึ้น 2 พยางค์ ซึ่งผู้ที่ฟังในครั้งแรกอาจคิดว่าเป็นการร้องตามตัวสะกดในโน้ตเพลงว่า “ข่า-วัน” ก็เป็นได้ และเมื่อแปลตามศัพท์จะได้ความว่า "เทพช่วยค้นหาขวัญให้้" ซึ่งอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะโดยความเชื่อของคนไทย การที่ขวัญพ้นไปจากร่างกายนั้นย่อมหมายถึงเจ้าของขวัญนั้น "เสียขวัญ" ก็จะเกิดเหตุวิปริตเหตุร้ายนานาประการ จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญกลับคืนมา เป็นต้น
  6. วรรคที่ว่า “ตอบสิ้นสิ่งประสงค์” เมื่อได้ทดร้องขับร้องตามคำร้องนี้โดยใช้สมมุติฐานอย่างโบราณจารย์แล้วพบว่าสำเนียงใกล้เคียงมาก มีแต่เพียงคำว่า "ตอบ" เท่านั้นที่ผมคิดว่าอาจจะยังไม่เข้ากลุ่มความหมายเพราะถ้าหมายความว่า "เทพตอบในสิ่งที่ประสงค์แล้ว" ก็ควรจะหมายถึงผู้รับพรนั้นเป็นคนขอแก่เทพเอง มิใช่ผู้อื่นขออัญเชิญเทพมาอวยพรให้
           เมื่อได้เห็นข้อสังเกตดังนี้แล้ว ผมจึงได้คิดต่อไปว่า ควรจะทำเช่นไรจึงจะสามารถทำการทดลองถอดคำร้องใหม่ได้ ในขั้นแรกจึงได้อาศัยหลักจากประสบการณ์การขับร้องเพลงไทยของตนเองประยุกต์เข้ากับการฟังจากเสียงต้นฉบับ จึงพอจะถอดพยางค์และเสียงเอื้อนให้เป็นถ้อยคำที่มีสัดส่วนชัดเจนขึ้นตามลำดับ ดังนี้

“* จง จะเริน อ่ายู(ฮื่อ) ทั่น(อือ) * (เออ เอ่อเออเอ่ย) สันละนา * เป (เอ้ เอ เอ่น) สุก * ทุ่ก(อือ) เวล้า * (เออ  เอ่อเออเอ่ย) ลา ฮาด ลน * เพอ (เฮ้อเฮอเฮิ้ม) โพน ว้าลี (ฮี้) หว่ารา * (เออ เอิงเงย) ซี้รีซาหวัด(อือ) * (เออ  เฮ้อเออเอ๋ย) เทพะ ชวย * (เออเฮ้อเออเฮ้อเออเฮอะเออเอ่อ) * (เออเฮอะเอย) อวย * สาอ่าวัน พ่น * (เอิงฮึงเอ่ย) ศอบ * (เออเฮ้อเอ่อเอย) สิน(อือ) * สิน ปรา สง (อือฮื่ออือเอิงเงย)”

หมายเหตุ : เครื่องหมายดอกจัน (*) คือ การแบ่งวรรคหายใจ
คำภายในเครื่องหมายวงเล็บคือ เสียงเอื้อน

           แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้เป็นหลักฐานในถอดคำที่ต่างออกไปจากข้อสันนิษฐานแรกได้โดยสมบูรณ์ ผมจึงตัดสินใจคัดลอกสำเนาเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมประยุกต์สำหรับการตัดต่อเสียง โดยทำการบูรณะเสียงให้ดังขึ้น พร้อมทั้งตัดเสียงรบกวนและลบช่วงเสียงที่ไม่ต้องการได้ยินออกเหลือแต่เฉพาะเสียงร้องเท่านั้น จึงทำให้ได้ยินถ้อยคำที่ชัดเจนขึ้นมาก  และได้แบ่งสัดส่วนของการร้องและเอื้อนเสียใหม่ ดังนี้


“* จง จะ-เริน อา-ยุ(ฮื่อ) ทั้ง(อือ) * (เออ เอ่อเออเอ่ย) พัน-ระ-นา * เป (เอ้ เอ เอ่น) สุก * ทุก(อือ) เวลา * (เออ  เอ่อเออเอ่ย) เลิศ(อือ) ล้น * เพอ (เฮ้อเฮอเฮิ้ม) พูน บอ-ริ(ฮี้)-วา-รา * (เออ เอิงเงย) สิ-ริ-สะ-หวัด(อือ) * (เออ  เฮ้อเออเอ๋ย) เทพ(อือ) ช่วย * (เออ เฮ้อ เออ เฮ้อ เออเฮอะเออ เอ่อ) * (เออ เฮอะเอย) อวย * สา-อ่า-วัน ค้น(อือ) * (เอิงฮึงเอ่ย) โสบ * (เออเฮ้อเอย) สิ้น(ฮื้อ) * สิ่ง(อื่อ) ปรา สงค์ (ฮื้ออื่อฮื่ออือเอิงเงย)”

          เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ผมจึงพยายามลดความเร็วของเสียงให้ช้าลงกว่าปกติ แล้วค่อย ๆ ใช้เวลาถอดเสียงไปทีละพยางค์ จนเริ่มได้เค้าโครงของคำที่น่าจะเป็นไปได้มากขึ้นตามลำดับโดยอาศัยข้อสันนิษฐานเดิมเป็นที่ตั้ง ถอดได้คำประพันธ์ออกมาเป็นรูปของโคลงสี่สุภาพใหม่ตามหลักฉันทลักษณ์ ดังต่อไปนี้


                                             จงเจริญอายุทั้ง                      พรรณา
                                    เป็นสุขทุกเวลา                               เลิศล้น
                                    เพิ่มพูนบริวารา                               สิริสวัสดิ์
                                    เทพช่วยอวยสวรรค์ค้น                     สบสิ้นสิ่งประสงค์
         

          ผมขอเสนอเหตุผลในการวินิจฉัยการเปลี่ยนคำร้องจากเสียงต้นฉบับเก่า ดังนี้
  1. คำว่า “ทั้ง” ในบาทแรกของโคลง เป็นการสร้างเสียงที่ถูกกับบังคับโทโทษ และเป็นสร้างคำวิเศษณ์ที่เชื่อมคำระหว่าง "อายุ" และ "พรรณา" 
  2. จากข้อที่ 1 คำว่า “พรรณา” นั้นน่าจะเป็นคำที่ใกล้เคียงที่สุด เพราะคำว่า “พรรณ” ในความหมายของพจนานุกรมหมายถึง “สีของผิว” ซึ่งแผลงมาจาก "วรรณะ" ดังนั้นในบาทแรกของโคลงที่เริ่มต้นว่า “จงเจริญอายุทั้ง พรรณา” จึงแปลตามศัพท์ได้ว่า “จงผู้เป็นที่เจริญด้วยอายุพร้อมด้วยวรรณะ”
  3. คำว่า “เลิศล้น” เป็นคำประสมที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ขยายคำว่า "เป็นสุข" เช่นเดียวกับที่มีคำปรากฏในโคลงโลกนิติ บทที่ 138 บาทสองที่ว่า "มีวิชารู้หลัก เลิศล้น" ดังนั้นบาทที่สองนี้จึงขยายความได้ว่า "เป็นสุขทุกเวลาอย่างเต็มเปี่ยม" นั่นเอง
  4. วรรคที่ว่า “พร้อมพรวลีวรา” นั้น ในวรรคแรกควรเป็น "เพิ่มพูนบริวารา" เพราะ “เพิ่มพูน” เป็นการสร้างคำซ้อนที่สอดคล้องกับการสร้างคำในบาทที่สองคือคำว่า "เลิศล้น" ซึ่งสำเนียงในแผ่นเสียงจะมีการเอื้อนเสียงคำว่า "เพิ่ม" โดยใส่เสียง เออ ลงไปในระหว่างหลายพยางค์ ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยเสียงตัว ม.ม้า เช่นเดียวกับคำว่า “บริวารา” ซึ่งเป็นคำนามที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกับคำข้างต้น แต่จากการสังเกตสำเนียงในแผ่นนั้น พบว่ามีการออกเสียง บ.ใบไม้ ใกล้เคียงกับ ว.แหวนมาก เนื่องจากเป็นการออกเสียงในฐานริมฝีปากเหมือนกัน ดังเช่นคำว่า "วรเทศ" ที่แผลงออกไปเป็น "บรเทศ" เป็นต้น เมื่อเชื่อมด้วยบริบทของคำในวรรคที่ว่า “สิริสวัสดิ์” ซึ่งน่าจะถูกต้องอยู่แล้ว ก็น่าจะมีความหมายที่สอดคล้องกัน
  5. วรรคที่ว่า “เทพช่วยอวยขวัญค้น” ผมได้ลองเทียบเสียงอยู่หลายครั้งแล้วก็ไม่ยังไม่แน่แก่ใจ แต่สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจที่จะเลือกใช้คำว่า "สวรรค์" แทนคำว่า "ขวัญ" เพราะพบว่ามีการแยกพยางค์เสียง มากถึง 3 เสียง  (สา-อ่า-วัน) ดังนั้น "เทพช่วยอวยสวรรค์ค้น" ในวรรคนี้น่าจะมีความหมายว่า "เทพทั้งสวรรค์นั้นช่วยลงมาค้นหาให้..." ซึ่งจะมีคำในวรรคสุดท้ายมารับให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์
  6. วรรคที่ว่า “ตอบสิ้นสิ่งประสงค์” ผมมีความเห็นว่าเป็นวรรคที่ยากสุดในการถอดเสียงบทร้องในเพลงสรรเสริญพระบารมีจากแผ่นเสียงนี้ และได้เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งของคุณหมอในการถอดคำประพันธ์ให้มีความหมายเข้ากับโคลงสาบบาทข้างต้น ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับคุณหมอชยันต์ธรว่าการร้องในสมัยก่อนจะยึดตามเสียงตัวโน้ตเป็นหลัก แต่เมื่อได้ทดลองขับร้องตามคำร้องนี้โดยใช้สมมุติฐานอย่างโบราณจารย์แล้วพบว่าสำเนียงที่ไม่ตรงกับต้นฉบับมีเพียงคำเดียวคือคำว่า  “ตอบ” ซึ่งการพิจารณาจากการฟังในรอบสุดท้ายนั้น ก็ได้เลือกที่จะใช้คำว่า "สบ" ซึ่งหมายถึง "พบ" หรือ "ทุก ๆ" หรือ "เสมอ" ซึ่งตัวอย่างในพจนานุกรมก็ได้ให้ตัวอย่างในการประสมคำด้วย เช่น สบโชค สบเหมาะ สบสมัย เป็นต้น และเมื่อแปลความหมายโดยรวมในวรรคนี้แล้ว "สบสิ้นสิ่งประสงค์" จึงได้ความแบ่งเป็นสองนัยคือ (1) ได้พบกับสิ่งที่ต้องการหรือมุ่งหมายทั้งสิ้น หรือ (2) ได้ในสิ่งที่ต้องการปรารถนาทุก ๆ สิ่งอยู่เสมอ ซึ่งเป็นบทสรุปที่ดีทั้งสองนัย
           
          ความหมายโดยรวมของคำประพันธ์นี้ เมื่อได้เสนอไปตามที่แสดงไว้ในโคลงสี่สุภาพชุดใหม่ย่อมแสดงถึงการอำนวยพรตามวัฒนธรรมไทยที่จะต้องประกอบด้วยจตุรพิธพรชัยและสิ่งบริวารอันอันก่อให้เกิดความสุขสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ  ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ  พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ (ซึ่งสามสิ่งหลังรวมอยู่ในคำว่า บริวาร ทั้งสิ้น) และขอให้เทพเทวดาในสวรรค์มาช่วยให้ผู้รับพรได้พบกับความสมหวังที่ประสงค์ไว้ทุกประการ

          หลังจากที่ได้ถอดคำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับนี้แล้ว ผมก็ได้มานึกตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สำเนียงการพูดของคนไทยสมัยก่อนอาจจะต่างไปจากการพูดในปัจจุบันเป็นอันมากอยู่หลายคำ ดังเช่นคำว่า “สรรเสริญ” (สันระเสิน) ซึ่งผู้ร้องใช้สำเนียงที่คล้ายกับคำอ่านว่า “สังระเสิน” หรือคำว่า “ทั้ง” ซึ่งปรากกฎสำเนียงร้องคล้ายกับ “ทั่น” เมื่อเชื่อมด้วยเสียงเอื้อนปิดคำ จะเห็นว่าการออกเสียงตัวสะกดแม่กนในสมัยก่อนมีความใกล้เคียงกับแม่กงมากจนแทบจะแยกไม่ออก ซึ่งไม่รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบการถอดเสียง ได้แก่การขับร้องของนักร้องทั้งสองท่านที่อาจจะพร้อมกันบ้างไม่พร้อมกันบ้าง หรือแม้แต่คุณภาพของการบันทึกเสียงในสมัยนั้น เป็นต้น

          สำหรับขอเสนอแนะในเรื่องนี้ จะมีน้ำหนักมากน้อยหรือผิดถูกสักเท่าใด ผมก็ขอยกให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดนำไปช่วยกันวินิจฉัยกันต่อไป และโปรดช่วยชี้แนะแก่ผมด้วย หากจะเป็นประโยชน์แก่วิชาการและประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ก็ขอยกผลประโยชน์นั้นให้กับครูอาจารย์ทางภาษาไทยและคีตศิลป์ไทยที่ได้สั่งสอนมา หากแต่ว่าไม่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่มีแก่นสารประการใด ผมก็ขอรับผิดนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว และจะพยายามคิดอ่านโดยรอบคอบเพื่ออำนวยประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงต่อไป

          ส่วนท้ายของเรื่องนี้ ผมขอจบด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมีในมุมมองของโลกปัจจุบันบ้าง ซึ่งเป็นนวัตกรรมการสร้างเสียงร้องขึ้นจากโปรแกรมสังเคราะห์ "Vocaloid" ในเสียงของ "ไคโตะ" ตัวละครเด่นจากโปรแกรมเอนิเมชั่นที่ได้รับความนิยมไปทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ซึ่งผมได้ทดลองสร้างเสียงร้องโดยให้เจ้าไคโตะซึ่งปกติจะร้องเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นให้มาหัดร้องเพลงนี้เป็นภาษาไทยครั้งแรกครับ




         นับแต่นี้ไปอีกร้อยปีข้างหน้า ขอจงภูมิใจเถิดครับ ว่าเราจะยังคงมีเพลงประจำชาติ และมีเพลงที่ได้ขับร้องเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้ร่มธงไตรรงค์ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ภายใต้ดินแดนที่ได้ชื่อว่า "ราชอาณาจักรไทย" สืบไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน 


แหล่งอ้างอิงประกอบการเขียน

ชมรมย่ำสุริยา http://twilightparty.com/index.php?option=com_content&task=view&id=258&Itemid=111
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp
พจนานุกรมบาลี-ไทย http://www.mahamodo.com/buddict/buddict_pali.asp
สมาคมนักอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย http://t-h-a-i-l-a-n-d.org/RoyalAnthem_original.html
เสียงในภาษาไทยและอักษรไทย http://www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-49/e-learning/page2.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น